Last updated: 24 ธ.ค. 2565 | 1202 จำนวนผู้เข้าชม |
การเชื่อม หรือ การตัดโลหะ เป็นงานที่จำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการก่อสร้างอาคาร ร้านค้า ป้ายโฆษณา รวมถึงโครงสร้างต่างๆที่เราพบเห็นกันอยู่ทุกวัน ทั้งนี้ก็เพื่อตัดโลหะออกจากกัน หรือ เพื่อยึดติดโลหะเข้าด้วยกันให้แน่นแข็งแรง ซึ่งในการเชื่อม/ตัดโลหะจะก่อให้เกิดมลพิษทางสภาพแวดล้อมในการทำงานประเภทต่างๆ มากมาย ต่อตัวผู้ปฏิบัติงานโดยตรง
ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมด้วยไฟฟ้า หรือแก๊ซ ล้วนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งอาจจะทำให้เสียชีวิตทันทีหากได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด หรือการระเบิด และยังส่งผลต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคจากการทำงาน เนื่องจากแสง หรือ รังสี ตลอดจนฟูมของโลหะซึ่งมีผลโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาดเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในระยะเวลาไม่กี่ปี หากไม่มีการป้องกันอย่างถูกต้อง
อุปกรณ์สำหรับงานเชื่อมไฟฟ้า
1. หน้ากากเชื่อม ซึ่งมีช่องมองใส่กระจกพิเศษป้องกันแสง อาทิ กระจก Athermal หรือ Sinesin สีดำประกบด้วยกระจกใสธรรมดา เพื่อป้องกันความเสียหายจากลูกไฟกระเด็นใส่ หน้ากากอาจเป็นแบบมือถือ หรือสวมศีรษะก็ได้ ปัจจุบันมีหน้ากากแบบที่ใช้กระจกปรับแสงอัตโนมัติช่วยอำนวยความสะดวก ผู้ใช้ไม่ต้องคอยระวัง คอยปิด-เปิดหน้ากาก แต่ราคาค่อนข้างสูง
2. ถุงมือหนังแบบยาว เพื่อป้องกันมือและแขน
3. แผ่นหนังป้องกันหน้าอก ลักษณะคล้ายผ้ากันเปื้อน ใช้ป้องกันอันตรายจากน้ำเหล็ก ลูกไฟ และของร้อนต่างๆ ระหว่างปฏิบัติงาน
4. ค้อนเคาะสแลคออกจากรอยเชื่อม เพื่อทำความสะอาดรอยเชื่อม ปกติจะมีปลายข้างหนึ่งแหลม อีกข้างหนึ่งแบนเหมือนสกัด
5. แปรงลวดเหล็ก เพื่อขัดทำความสะอาดรอยเชื่อม
6. มือจับลวดเชื่อมพร้อมสายเชื่อม
7. สายดินพร้อมปากคีบหรือแคล้ม เพื่อจับยึดกับชิ้นงานหรือโต๊ะเหล็ก
การป้องกันอันตรายจากการปฏิบัติงาน
ช่างเชื่อมไฟฟ้า ต้องไม่ประมาทกับไฟฟ้า การไหลของกระแสไฟฟ้าจะเกิดขึ้นเมื่อวงจรไฟฟ้าถูกเชื่อมเข้าด้วยกัน ความแรงของกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านนั้น ขึ้นอยู่กับความต้านทานของตัวนำ หากความต้านทานต่ำ กระแสจะสูง ตราบใดที่ประกายไฟอาร์กติดอยู่แสดงว่าวงจรไฟฟ้าถูกต่อเชื่อมเข้าด้วยกัน อันตรายจะไม่เกิดแก่ผู้เชื่อม แต่เมื่อประกายไฟอาร์กหยุดลงและเครื่องเชื่อมยังคงทำงานอยู่ แม้ว่าเครื่องเชื่อมไฟฟ้ากระแสสลับจะมีแรงดันประมาณ 70 V หรือเครื่องเชื่อมไฟฟ้ากระแสตรง จะมีแรงดันไฟประมาณ 100 V (อาจสูงกว่า) การเชื่อมด้วยหม้อแปลงไฟกระแสสลับ ซึ่งขั้วไฟเปลี่ยนแปลงตลอด เวลานั้นอันตรายมากกว่ากระแสตรง อาจถึงแก่ชีวิตเมื่อมีการสัมผัสกับลวดเชื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากร่างกายของผู้สัมผัสเปียกแฉะด้วยเหงื่อหรือน้ำ และยืนอยู่บนพื้นซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ไปเชื่อมต่อกับขั้วสายดินของเครื่อง ซึ่งทำให้เกิดการต่อเชื่อมวงจรเข้าด้วยกัน เราไม่ควรให้น้ำหนักกับอันตรายไปอยู่ที่แรงดันไฟฟ้าต่ำอย่างเดียว แต่ควรตระหนักเรื่องกระแสไฟฟ้าสูงด้วย แรงดันไฟฟ้าเพียง 70 V อาจส่งผลถึงชีวิตได้ ถ้าร่างกายเปียกชื้น เพราะจะมีความต้านทานต่ำ
มาตรการป้องกันง่ายๆ คือ หาแผ่นยางหรือแผ่นไม้มารองรับ เพื่อตัดการเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้า ผู้ปฏิบัติงานควรสวมถุงมือที่แห้งเป็นประจำ เพราะมือที่เปียกชื้น เป็นสื่อนำไฟฟ้าที่ดีกว่า ควรใช้สายไฟที่ฉนวนหุ้มไม่เสียหายชำรุด ไม่เฉพาะกับสายที่ต่อจากไฟบ้านเข้าเครื่อง แต่สายเชื่อมก็ต้องดีด้วย และควรหลีกเลี่ยงงานเชื่อมกลางฝน
อันตรายจากไฟอาร์ก
นอกจากแสงสว่างจ้าจากไฟอาร์กที่เรามองเห็นแล้ว ยังมีสิ่งที่มาด้วยแต่เรามองไม่เห็น คือ แสงอุลตร้าไวโอเล็ตและแสงอินฟาเรด ซึ่งทำลายดวงตา และทำให้ผิวหนังไหม้ได้ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานเชื่อมไฟฟ้า จึงต้องมีอุปกรณ์ป้องกันที่ได้มาตรฐาน กระจกดำธรรมดา หรือแม้แต่แว่นสำหรับเชื่อมแก๊ส ไม่อาจใช้ป้องกันรังสีจากไฟอาร์กได้ รังสีอุลตร้าไวโอเล็ตที่มากับแสงอาร์กของไฟเชื่อม จะก่อให้เกิดการระคายเคืองในดวงตา ช่างเชื่อมในช่วงฝึกหัด จะยังไม่คล่องกับจังหวะการปิด-เปิดหน้ากากเชื่อมอาจทำให้พลาดมองเข้าไปในไฟอาร์กบ่อยครั้ง จนต้องไปนอนปวดแสบปวดร้อนดวงตาเหมือนทรายอยู่ในตา ต้องรักษาอยู่หลายวัน ประมาทมากอาจทำให้เสียสายตาถึงตาบอดได้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่สถานศึกษาต้องมีห้องเชื่อมและสถานประกอบการควรมีฉากบังแสง ไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น และเด็กๆ ที่สอดรู้สอดเห็นมองเข้าไปยังไฟอาร์ก
อันตรายจากไอก๊าซและควันจากการเชื่อม
แม้จะดูเหมือนว่าไฟอาร์กไม่ใช่การเผาไหม้โดยตรง แต่ขณะเชื่อมไฟฟ้าจะเกิดการสูญเสียออกซิเจนในอากาศจำนวนมาก นอกจากนั้น การหลอมละลายของลวดเชื่อมกับการเผาไหม้ของฟลักซ์หุ้มลวดเชื่อมก่อให้เกิดควันและอากาศเสียที่ต้องการระบายอากาศที่ดี หรือมีระบบดูดควันพิษจากบริเวณรอบๆ จุดอาร์กออกไป
อันตรายจากความร้อน
การเชื่อม เป็นการหลอมโลหะเข้าด้วยกัน ดังนั้น จึงต้องคำนึงถึงความร้อนที่เกิดขึ้น น้ำโลหะและสแลคอาจจะกระเด็นใส่ผู้เชื่อมหรือสิ่งของอื่นในบริเวณนั้นจนเกิดลุกไหม้ขึ้นได้ บาดแผลจากไฟไหม้จะรักษาให้หายได้ยากกว่าบาดแผลจากอุบัติเหตุอื่น ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยในเรื่องของความปลอดภัยและอุปกรณ์ป้องกันตัว โลหะอาจร้อนจัด แม้ไม่เปล่งแสงให้เห็นการจะหยิบจับต้องแน่ใจ ใช้คีมคีบจะดีที่สุด ในรัศมีประมาณ 10 เมตร จากจุดเชื่อมจะต้องไม่ให้มีเชื้อเพลิงอยู่ในบริเวณนั้น ทรายแห้งอาจเป็นวัสดุดับไฟที่ดีในยามฉุกเฉินที่ควรเตรียมเอาไว
อุบัติภัยถึงชีวิต
ไฟฟ้ามีหรือไม่ เรามองไม่เห็น ช่างเชื่อมไม่ควรประมาท ที่เยอรมันจะเตือนกันอยู่เสมอว่าไม่ให้เชื่อมด้วยมือเปล่า เราจำเป็นต้องใส่ถุงมือป้องกันอันตรายอันอาจเกิดขึ้นได้
24 ธ.ค. 2565
16 พ.ค. 2567